ศุจินันท์ ฉลาด (ครูแหม่ม)

ในสมัยก่อนไม่มีคำว่า “มาตรฐาน” จะเรียกกันเพียงว่า “รำวง” เท่านั้น การรำวงนี้เป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยที่บ่งบอกถึงความสนุกสนาน จะเล่นกันในบางท้องถิ่นและบางเทศกาลของแต่ละจังหวัดเท่านั้น รำวงมาตรฐานมีวิวัฒนาการมาจากการรำโทน ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองของไทย หรืออาจพูดได้ว่า “รำวง” เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รำโทน”    สมัยก่อนเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการรำโทนก็มี ฉิ่ง ฉาบ และโทน ใช้ตีประกอบจังหวะ โดยการฟ้อนรำจะมีเสียงโทนเป็นเสียงหลักตีตามจังหวะหน้าทับ จึงเรียกการฟ้อนรำชนิดนี้ว่า “รำโทน” ในด้านของบทร้องจะเป็นบทร้องที่มีภาษาเรียบง่าย ไม่พิถีพิถันในเรื่องถ้อยคำและสัมผัสวรรคตอนแต่อย่างใด เนื้อหาของเพลงจะออกมาในลักษณะกระเซ้าเย้าแหย่การหยอกล้อของหนุ่มสาว เชิญชวน ตลอดจนการชมโฉมความงามของหญิงสาวเป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสนุกสนานในการเล่น ในเรื่องของการแต่งกายก็เน้นเพียงความสะดวกสบายของชาวบ้านเอง ไม่ได้ประณีตแต่อย่างใด
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2483 ชาวบ้านนิยมเล่นรำโทนอย่างแพร่หลาย ศิลปะชนิดนี้จึงมีอยู่ตามท้องถิ่นและพบเห็นได้ตามเทศกาลต่างๆ มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากนี้เอง จึงได้มีผู้คิดแต่งบทร้องและทำนองเพลงขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังคงจังหวะหน้าทับของโทนไว้เช่นเดิม บทร้องและทำนองแปลกๆ ที่มีเกิดขึ้นมาใหม่โดยปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นบทเพลงที่ขาดการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นผู้แต่งบทร้องและทำนอง
ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2484 – 2488 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่ ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เพื่อเจรจาขอตั้งกองทัพในประเทศไทย โดยใช้เส้นทางต่างๆ ในแผ่นดินไทยลำเลียงเสบียงอาหาร อาวุธและกำลังพล เพื่อใช้ในการต่อสู้กับประเทศสัมพันธมิตร อังกฤษ อเมริกา ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมี จอมพล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจยอมให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพราะเกรงว่าหากปฏิเสธคงจะถูกปราบปรามแน่ ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบจากการรุกรานของฝ่ายพันธมิตร ที่ส่งกองทัพเข้ามาโจมตีฐานทัพญี่ปุ่นทางอากาศ โดยเฉพาะในยามที่เป็นคืนเดือนหงาย จะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ได้ง่าย ข้าศึกมักจะเข้ามาโจมตีอย่างหนักด้วยการทิ้งระเบิด ซึ่งสร้างความเสียหายทำลายชีวิตและทรัพย์สินบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ใกล้กับฐานทัพญี่ปุ่น   เมื่อช่วงคืนเดือนหงายผ่านไปคืนเดือนมืดเข้ามา ข้าศึกจะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ไม่ชัดเจนจึงพักการรุกราน ประชาชนชาวไทยได้รับความเดือดร้อน ต่างอยู่ในสถานการณ์ที่หวาดกลัวเป็นอย่างมาก จึงได้หาวิธีผ่อนคลายความตึงเครียดความหวาดผวา ด้วยการนำศิลปะพื้นบ้านที่ซบเซาไป กลับมาร้องรำทำเพลง นั่นก็คือ “การรำโทน”
คำร้อง ทำนอง และการแต่งกาย ก็ยังคงเรียบง่าย สนุกสนานเช่นเดิม เพลงที่นิยมได้แก่เพลง ใกล้เข้าไปอีกนิด ช่อมาลี ตามองตา ยวนยาเหล่ เป็นต้น ต่อมา จอมพล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม ได้เล็งเห็นศิลปะอันสวยงามของไทยที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย หากชาวต่างชาติมาพบเห็นจะตำหนิได้ว่า ศิลปะการฟ้อนรำของไทยนี้มิได้มีความสวยงามประณีตแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีศิลปะที่แสดงออกว่าเป็นชาติที่มีวัฒนธรรม ท่านจึงได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงและพัฒนาการรำ “รำโทน” ขึ้นใหม่ให้มีระเบียบแบบแผนให้มีความประณีตงดงามมากขึ้น ทั้งทางด้านเนื้อร้อง ทำนอง ตลอดจนเรื่องการแต่งกาย
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรได้ประพันธ์บทร้องขึ้นใหม่ 4 เพลง คืองามแสงเดือน ชาวไทย,รำซิมารำ,คืนเดือนหงาย และได้กำหนดวิธีการเล่น ตลอดจนท่ารำและการแต่งกายให้มีความเรียบร้อยสวยงามอย่างศิลปะของไทย
วิธีการเล่นนั้นจะเล่นรวมกันเป็นวง และเคลื่อนย้ายเวียนกันไปเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา และด้วยเหตุนี้เองจึงได้เปลี่ยนชื่อ “รำโทน” เสียใหม่มาเป็น “รำวง” ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่อีก 6 เพลง คือ ดวงจันทร์วันเพ็ญ,ดอกไม้ของชาติ, หญิงไทยใจงาม,ดวงจันทร์ขวัญฟ้า,ยอดชายใจหาญ,บูชานักรบ มอบให้กรมศิลปากรบรรจุท่ารำไว้เป็นแบบมาตรฐาน
ส่วนทำนองนั้นรับผิดชอบแต่งโดยกรมศิลปากรและกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องสุภาพ ใช้คำง่าย ทำนองเพลงง่าย มุ่งให้เห็นวัฒนธรรมของชาติเป็นส่วนใหญ่ การแสดงจะใช้ผู้แสดงหญิงชายไม่น้อยกว่า ๕ คู่
ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ชาวไทยก็ยังคงให้ความนิยมการเล่นรำวงสืบมาจนถึงปัจจุบัน และชาวต่างชาติก็นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในงานเต้นรำต่างๆ จนกระทั่งมีนักประพันธ์ผู้หนึ่งเป็นชาวอเมริกันที่ชื่อว่า Foubion Bowers ที่ได้มาพบเห็นศิลปะการรำวงของไทย และนำไปกล่าวไว้ในหนังสือ Theatre in the East ซึ่งมีสำเนียงการเรียก “รำวง” เพี้ยนไปบ้างเล็กน้อยเป็น “รำบอง” (Rombong) แต่อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของกรมศิลปากร ในการปรับปรุงศิลปะการรำวงทั้งหมด 10 เพลงนี้เพื่อเป็นศิลปะการรำวงที่มีระเบียบแบบแผน ทั้งคำร้อง ทำนอง ท่ารำ ตลอดจนการแต่งกาย ให้เป็นแบบฉบับมาตรฐาน สะดวกในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยและสืบสานต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงเรียกรำวงที่มีศิลปะเป็นแบบฉบับมาตรฐานว่า “รำวงมาตรฐาน” สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ใส่ความเห็น